วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ช่วยวิจารณ์ แก้ไข บทวีดิทัศน์ ด้วยครับ

วีดิทัศน์ อาคารในศิริราช โดย ศิริราชรุ่น ๘๙
สำหรับงานคืนสู่เหย้า แพทย์ศิริราช วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๒

บทบรรยาย

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากกว่า ๑๒๑ ปี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี มีพื้นที่ประมาณ ๑๑๐ ไร่ มีอาคารจำนวน ๗๕ อาคาร อาคารแต่ละหลังมีประวัติศาสตร์ มีภารกิจรับใช้ประเทศไทยมาโดยตลอด
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระราชทานโรงพยาบาลให้ปวงชนชาวไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ อาคารหลังแรกเป็นเรือนรักษาพยาบาล ได้จากไม้ที่ใช้ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระองค์เจ้าศิริราชกกุธภัณฑ์

พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ๒๐๐ ชั่ง (๑๖,๐๐๐ บาท) ให้เป็นทุนแรกเริ่ม คอมมิตตีได้ใช้เงินนี้สร้างเรือนผู้ป่วยใหญ่ ๓ หลัง หลังเล็ก ๓ หลัง กับเรือนพักแพทย์และคลังยาอีก ๑ หลัง กำหนดรับผู้ป่วยได้ประมาณ ๕๐ คน

ในยุค พ.ศ. ๒๔๓๑-๒๔๖๖ มีการก่อสร้างตึกหลายหลัง อาทิ
ตึกเสาวภาคย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒
ตึกอำนวยการ หรือในชื่อแรกๆ ว่า เรือนพระอาจวิทยาคม ใน พ.ศ. ๒๔๓๒
ตึกวรเสรฐสุดา พ.ศ. ๒๔๔๒
ตึกเจ้าจอมมารดาแสง พ.ศ. ๒๔๔๒
ตึกบรรจบเบญจมา พ.ศ. ๒๔๔๓ รื้อในพ.ศ. ๒๔๗๒
ตึกเรียนวิทยาศาสตร์ พ.ศ. ๒๔๔๓ รื้อในพ.ศ. ๒๔๘๑
ตึกผ่าตัด (โรงกระโจม) พ.ศ. ๒๔๔๖
สาโรวาท โอสถาคาร พ.ศ. ๒๔๕๐

ในโอกาสสมเด็จพระบรมราชินีวิคตอเรียแห่งอังกฤษเสวยราชย์ครบห้าสิบปี ชาวอังกฤษในกรุงเทพฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงิน ๑๐ ชั่ง (๘๐๐ บาท) จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกที่พักผู้ป่วยพิเศษ ๑ หลัง จุ ๒ เตียง โดยโรงพยาบาลออกเงินเพิ่มเติมอีก ๒๐ ชั่ง (๑,๖๐๐ บาท) พระราชทานชื่อว่า “ตึกวิคตอเรีย”

๓ มกราคม ๒๔๔๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารโรงเรียนแพทย์หลังใหม่ โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนว่า “ราชแพทยาลัย”
เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๑ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปิดตึกอำนวยการ ตึกมหิดลบำเพ็ญ ศาลาปาโถโลยี ศาลาศัลยกรรม ศาลากายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยา

ใน พ.ศ. ๒๔๗๔ หอพักนักเรียนแพทย์ (ชาย) สร้างขึ้นในที่ดิน ซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯกรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินทรประทาน นักเรียนแพทย์มีหอพักที่เป็นตึกครั้งแรกแตกต่างจากเดิมซึ่งเป็นโรงไม้หลังคามุงจาก

๒๔๗๕ พระบรมวงศานุวงศ์ ศิษย์และผู้ที่เคยได้รับพระราชทานทุนส่วนพระองค์ ได้เรี่ยไรเงินสร้างตึกเฉพาะผู้ป่วยพิเศษ และได้รับพระราชทานชื่อว่า “ตึกมหิดลวรานุสรณ์”

พ.ศ. ๒๔๘๘ วันที่ ๔ มีนาคม ศิริราชถูกภัยทางอากาศหนักมาก ตึกพยาธิวิทยาหลังที่สอง (สร้างโดยทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์) หอพักแพทย์หลังใหม่และตึกพระองค์หญิง ถูกระเบิดทำลายหมด หอพักแพทย์ชาย อาคารของแผนกสูติศาสตร์ฯ ตึกกายวิภาคและสรีรวิทยาเสียหาย

๑ มีนาคม ๒๔๙๔ เวลา ๐๙.๒๔ น. พิธีวางศิลาฤกษ์หอประชุมราชแพทยาลัย จนสร้างเสร็จ และเมื่อ ๑๙ มิถุนายน ๒๔๙๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดหอประชุมราชแพทยาลัยและพระราชทานปริญญาบัตรที่นี่เป็นครั้งแรก

๒๔๙๖ ตึกผู้ป่วยนอกหลังใหม่ สร้างเสร็จ อยู่ใกล้ศาลาท่าน้ำศิริราช
๒๖ เมษายน ๒๕๑๙ เสด็จพระราชดำเนินเปิดงานฉลอง ๘๔ ปีศิริราช และทรงเปิดตึกตรวจโรคหลังใหม่ มีงานนิทรรศการ ณ ตึกตรวจโรคนอกเป็นเวลา ๗ วัน

๑๑ กรกฎาคม ๒๕๒๓ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาทรงวางศิลาฤกษ์ตึกสมาคมศิษย์เก่าแพทย์ศิริราช จนถึงวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๒๔ เสด็จฯมาทรงเปิดอาคารสมาคม อย่างเป็นทางการ

๒๕๒๙ เริ่มรื้อตึก ๔ หลัง คือ ตึกศัลยกรรมหญิง ตึกตั้งตรงจิตร ศาลาศัลยกรรม และตึกผ่าตัดจักษุ เพื่อสร้างตึกสยามินทร์

๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงวางศิลาฤกษ์ตึกสยามินทร์ เริ่มการก่อสร้างอาคารกำจัดน้ำเสีย อาคารศาลาศิริราช ๑๐๐ ปี และอาคารจอดรถ

๑๕ สิงหาคม ๒๕๓๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพิธีเปิด “ตึกสยามินทร์ และตึกอัษฎางค์”

๕ เมษายน ๒๕๓๙ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ “ตึกเจ้าฟ้ามหาจักรี” วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๕ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดตึก “เจ้าฟ้ามหาจักรี”

๖ สิงหาคม ๒๕๔๗ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จมาทรงประกอบพิธีเปิด “อาคาร ๑๐๐ ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์” ณ โรงพยาบาลศิริราช

๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จมาประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ “อาคาร
ปฏิบัติการปรีคลินิกและเวชสารสนเทศ” ณ บริเวณที่เคยเป็นอาคารสรีรวิทยา อาคารหลังนี้จะเป็นที่ตั้งของภาควิชาทางปรีคลินิก และมีห้องประชุมขนาด ๖๐๐ ที่นั่ง รวมทั้งมีระบบสารสนเทศที่ทันสมัย

มติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ให้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ใช้พื้นที่ ๓๓ ไร่บริเวณสถานีรถไฟธนบุรี เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาศิริราชสู่สถาบันการแพทย์ชั้นเลิศในเอเชียอาคเนย์ เพื่อสาธารณะประโยชน์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข คณะฯจึงจัดสร้างอาคาร ๒ หลัง เพื่อเป็นอาคารรักษาพยาบาล และอาคารวิจัย ได้รับพระราชทานนามว่า อาคารปิยมหาราชการุณย์ และ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ นับเป็นอาคารใหม่สุดที่จะสร้างเสร็จและเปิดใช้งานประมาณพ.ศ.๒๕๕๔ ซึ่งจะทำให้ศิริราชก้าวสู่สถาบันชั้นเลิศในเอเซียอาคเนย์

๑๗ มีนาคม ๒๕๕๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงวางศิลาฤกษ์ “อาคารโครงการพัฒนาศิริราชสู่สถาบันการแพทย์ชั้นเลิศในเอเชียอาคเนย์” ณ บริเวณพื้นที่สถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้พระราชทานนามโครงการว่า สถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช
อาคารปิยมหาราชการุณย์ จะทำหน้าที่รักษาพยาบาล มี OPD มีห้องผ่าตัด ๖๐ ห้อง ICU และหอผู้ป่วย ๓๐๐ ห้อง โดยเน้นการบริการสาขาวิชาที่เป็นเลิศ เช่น โรคหัวใจ รังสีรักษา เป็นต้น บริการสำหรับประชาชนทั่วไปในมาตรฐานนานาชาติ ส่วนอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ ทำหน้าที่วิจัย จะมีพื้นที่ในโครงการวิจัยขนาดใหญ่ ๑๐ โครงการ เพื่อผลักดันงานวิจัยให้ก้าวหน้าในระดับสากล

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ผลิตบัณฑิตแพทย์ออกรับใช้สังคมไทยมาช้านาน บัณฑิตแพทย์รุ่น ๘๙ ครั้งนั้นมีจำนวน ๑๕๘ คน เป็นชาย คน หญิง คน แพทย์รุ่น ๘๙ มีกิจกรรมร่วมกันทุกด้านเหมือนนักศึกษาอื่นๆ เที่ยวด้วยกัน ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เยี่ยมโรงพยาบาลชุมชน ช่วยเหลือผู้ป่วยทุกระดับ

แพทย์ศิริราชรุ่น ๘๙ ได้จบเมื่อพ.ศ.๒๕๒๗ นับได้ ๒๕ ปีแล้ว ได้กระจายสู่สังคมไทยในทุกสาขา ทุกคนใช้วิขาชีพแพทย์และประสบความสำเร็จในชีวิต หลายคนรับราชการในกระทรวงสาธารณสุข จนมีตำแหน่งใหญ่ เป็นสาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาล หัวหน้าแผนกต่างๆ

หลายคนเป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพเฉพาะทาง กุมารเวชศาสตร์ อายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์ จักษุวิทยา ออร์โธปิดิกส์ รังสีวิทยา และอื่นๆ

หลายคนประสบความสำเร็จในต่างประเทศ แต่ก็ยังติดต่อกันอยู่เสมอ
หลายคนอยู่คณะแพทย์อื่น เป็นถึงรองคณบดี และหัวหน้าภาควิชา

หลายคนอยู่โรงพยาบาลเอกชน เป็นผู้อำนวยการ ต่างช่วยเหลือประชาชนได้เช่นกัน

ส่วนหนึ่งมีโอกาสอยู่ในศิริราชเอง จำนวนไม่น้อยถึง ๑๒ คน เป็นศาสตราจารย์ รองรองศาสตราจารย์ ผู้ช่วย และอาจารย์ที่สอนนักศึกษารุ่นต่อๆไป หลายคนเป็นผู้บริหารของศิริราช และมหาวิทยาลัย

ทั้งหมดนี้ทุกคนยังรู้สึกคิดถึงศิริราชที่เป็นสถาบันแม่ ที่ให้กำเนิดวิชาชีพแพทย์ให้พวกเรา ทุกคนยังรัก และอยากกลับมาหา มาเยี่ยมเยียนสถาบันนี้ หากสถาบันนี้ต้องการให้ช่วยเหลือสิ่งใด พวกเรายินดี

ขอขอบคุณ
อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ศ.เกียรติคุณ นพ.สรรใจ แสงวิเชียร
หัวหน้า และบุคลากรสถานเทคโนโลยีแพทยศาสตร์
แพทย์ศิริราชรุ่น ๘๙
อ้างอิงบทความ รูปภาพ จาก หนังสือ ๑๒๐ ปี ศิริราช